Posted on Leave a comment

พร้อมหรือยัง?….รับค่าไฟฟ้าเมืองไทย

มิเตอร์ไฟฟ้า

พร้อมหรือยัง?.....รับค่าไฟฟ้าเมืองไทย

มิเตอร์ไฟฟ้า

ค่าไฟฟ้าแพง…..แล้วมันมาจากสาเหตุอะไรล่ะ???? กระแสไฟฟ้าในประเทศไทย…ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และของเอกชน ส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 

พลังงานไฟฟ้ามาจากไหน

แหล่งพลังงานในไทยอยู่ที่ไหนบ้าง ?

1. ก๊าซธรรมชาติ
สำหรับก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทยมีแหล่งผลิตราว 13 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยมีแหล่งใหญ่คือ แหล่งบงกช และ แหล่งเอราวัณ ซึ่งทั้งสองแหล่งนี้ตั้งอยู่ในอ่าวไทย และล่าสุดมีแหล่งบงกชใต้เพิ่มเข้ามา ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

2. น้ำมันดิบ
แหล่งพลังงานน้ำมันของไทยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

▪️ แหล่งพลังงานบนบก
แหล่งพลังงานบนบกจะมีอยู่ที่ภาคเหนือและภาคกลาง เช่น แอ่งฝาง แอ่งพิษณุโลก เป็นต้น
▪️ แหล่งพลังงานในทะเล
เช่น แอ่งจัสมิน แอ่งบานเย็น เป็นต้น

3. ถ่านหิน
ประเทศไทยมีแหล่งถ่านหินกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออก และโดยส่วนมากเป็นถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ โดยแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่หลายคนรู้จักกันดีคือเหมืองถ่านหินในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก

นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และถ่านหิน ประเทศไทยยังมีการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานน้ำจากเขื่อน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทางภาครัฐกำลังผลักดันให้มีสัดส่วนพลังงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 45,595.87 เมกะวัตต์ 
▪️ ผลิตเองจาก กฟผ. 35.13% 
▪️ รับซื้อจากเอกชน 64.87%

ซึ่งการรับซื้อจากเอกชน มาจากที่ไหนบ้าง? 
▪️ จากประเทศลาว และมาเลเซีย 12.55% 
▪️ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 32.78%
▪️ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก  (SPP) และผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ (VSPPS) 20.84%

*ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี 2563

ใครคือผู้ดูแลการขึ้นค่าไฟฟ้าในประเทศไทย

หน่วยงานกำกับดูแลที่ว่านี้ ชื่อ “ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. ถือเป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่เป็น Regulator กิจการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน

กิจการพลังงาน ที่ กกพ. มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลคือ ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน กิจการไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวได้ว่า ยังอยูในสภาพผูกขาดทุกขั้นตอน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า แม้จะมีการเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้ แต่เมื่อผลิตแล้ว ก็ต้องขายให้ กับ กฟผ. ในราคาที่ตกลงกัน , ระบบสายส่ง ผูกขาดตามธรรมชาติ โดย กฟผ. ระบบจำหน่าย ผูกขาด โดย กฟผ. , การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ), ระบบค้าปลีก ผู้ขาดโดย กฟน. และ กฟภ.

บทบาทของ กกพ. จึงเป็นไปตามสภาพของโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไม่สามารถกำกับดูแลในทุกๆเรื่อง ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า เหมือนในบางประเทศ ที่มีการเปิดเสรี การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง มีกลไกตลาด ทำหน้าที่กำหนดราคาไฟฟ้า ตามดีมานด์ และซัพพลายในแต่ละช่วงเวลา

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มี 18 ข้อดังนี้

1. กํากับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ

2. ออกประกาศกําหนดประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน และเสนอการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต

3. กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า

4. กําหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งกํากับดูแลขั้นตอนการคัดเลือกให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

5. เสนอความเห็นต่อแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานเพื่อนําเสนอรัฐมนตรีตามมาตรา 9 (3)

6. ตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

7. ออกระเบียบหรือประกาศและกํากับดูแลมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ รวมทั้งมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานจากการประกอบกิจการพลังงาน

8. เสนอข้อบังคับและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 9 (10)

9. ออกระเบียบหรือประกาศกําหนดนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่

10. ออกระเบียบหรือประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนําส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามมาตรา 9 (8 )

11. ออกคําสั่งและกําหนดค่าปรับทางปกครองตามหมวด 8 การบังคับทางปกครอง

12. เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน

13. ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการประกอบกิจการพลังงาน

14. ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้และความตระหนักทางด้านพลังงาน

15. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน

16. ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคํานึงถึงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการไฟฟ้าและความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ

17. ประสานงานกับหน่วยงานอื่นในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

18. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือที่กฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

 

สูตรการคิดค่าไฟฟ้า

โครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย  ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat)

ในที่นี้จะอธิบายในส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน เนื่องจากเมื่อทราบค่าไฟฟ้าฐานแล้วก็สามารถไปหาค่า ft (เปลี่ยนทุก4เดือน) และ vat ได้โดยง่าย

ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต X อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย

ค่าไฟไทยหน่วยล่ะเท่าไหร่...อนาคตจะเพิ่มมากไหม?

เวลาเราจ่ายค่าไฟฟ้า เราก็มักจะจำกันว่า ค่าไฟฟ้ามีราคาประมาณ 4 บาทต่อหน่วย แต่ช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าไทยกำลังแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะไม่กลับมาที่ 4 บาทอีกแล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็เพราะว่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา กำลังจะหมดไปจากอ่าวไทย
 
หากอ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานในครึ่งปีแรก
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นมาจาก
– ก๊าซธรรมชาติ 55%
– ถ่านหิน 16%
– พลังงานนำเข้า 15%
– พลังงานหมุนเวียน 10%
– พลังงานอื่น ๆ 4%
 
โดยเหตุผลที่ว่า ทำไมไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งของไทย ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติก็เพราะว่ามีราคาถูก และสามารถขุดเจาะได้จากอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับถ่านหินและน้ำมันภาครัฐจึงสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ราคาค่าไฟฟ้าของไทยจึงไม่ได้สูงมากนัก
แต่ค่าไฟของไทย อาจจะไม่ได้ถูกอีกต่อไปเพราะหากเราย้อนกลับไปดูสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
 
ในปี 2555 ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มากถึง 81%
ปี 2560 ลดเหลือ 73%
ปี 2565 เหลือเพียง 63%
 
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนลดลงไปเรื่อย ๆสาเหตุหลักก็มาจากปริมาณก๊าซ ธรรมชาติในอ่าวไทยที่เหลือน้อยลงภาครัฐจึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพื่อรักษาแหล่งพลังงานราคาถูกจากอ่าวไทยออกไปให้นานที่สุดอีกทั้งการสำรวจและสร้างแท่นขุดเจาะใหม่ ๆ ย่อมมีค่าสำรวจและค่าก่อสร้างที่สูงประกอบกับหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีลักษณะเป็นบ่อเล็ก ๆ หลายบ่อรวมกันทำให้การลงทุนก่อสร้างแท่นขุดเจาะใหม่อาจจะไม่คุ้มค่านัก
 
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติถึง 37%
โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แหล่ง คือ
การนำเข้าแหล่งแรก มาจากท่อส่งก๊าซของประเทศพม่า 16%
ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และยังซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างในปัจจุบัน เราจะต้องจ่ายด้วยเงินบาทที่มากขึ้น ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ปริมาณเท่าเดิม
เมื่อเรามาดูราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยต่อปี จากประเทศพม่าจะพบว่าราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
 
ปี 2563 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 224 บาท
ปี 2564 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 225 บาท
 
ครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 307 บาท
เพิ่มขึ้นมามากถึง 37% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน
 
การนำเข้าแหล่งที่ 2 มาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ผ่านทางเรือซึ่งเราก็ได้เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้งอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซของพม่า มีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน
โดยที่ราคานำเข้าของ LNG จากต่างประเทศนั้น จะมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและพม่า
 
เมื่อเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยต่อปีของ LNG
ปี 2563 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 250 บาท
ปี 2564 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 333 บาท
ครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 720 บาท
 
ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 3 แหล่ง จะถูกคำนวณรวมกันหรือที่เรียกกันว่า “ราคา Pool” ก่อนจะกลายเป็นราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าในไทยซึ่งราคา Pool ก็ปรับเพิ่มจากราคาเฉลี่ยที่ 239 บาทต่อล้านบีทียู ในปี 2562เป็น 398 บาทต่อล้านบีทียู ในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาแล้ว 67%ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น และไม่กลับมามีราคาถูกเหมือนในอดีตโดยมีสาเหตุหลักมาจาก
– ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดไป
– ทำให้สัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
– ก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศมีราคาสูงกว่า
 
ยิ่งเมื่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกนำมาแทนนั้น คือ LNG ที่เราต้องนำเข้าเป็นหลัก ก็ยิ่งมีแต่จะทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาแพงขึ้น เพราะราคา LNG ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและประเทศในโซนยุโรป ที่ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้น จำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ซึ่งต่างก็เปลี่ยนมาพึ่งพา LNG เช่นกันและถึงแม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ จะปรับตัวลงในท้ายที่สุดแต่ด้วยสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่น้อยลงจนไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ จากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ราคา Pool ของก๊าซธรรมชาติ ที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าต้องปรับตัวสูงขึ้นอยู่ดี
สุดท้ายแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น กระทรวงพลังงาน หรือ กฟผ.ก็ต้องหาทางออก เพื่อเตรียมพร้อมในวันที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหมดลงไม่ว่าจะเป็พลังงานทดแทนอื่น ๆ หรือพลังงานสะอาด
ที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด อย่างเช่น น้ำ, ลม หรือแสงอาทิตย์แต่ด้วยสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดและประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่เราต้องรักษาไว้
 
จึงเป็นโจทย์สำคัญว่า ประเทศไทยจะทำอย่างไร
 
ข้อมูลจาก เพจ ลงทุนแมน