วันนี้ แอดมิน ไปจ่ายค่าน้ำประปามาครับ เลยมาแจ้งข่าวในเรื่องที่หลายคนสงสัยในคุณภาพน้ำประปา หรือการบริการต่างๆ โดยแอดมินได้ รวบรวมคำถามยอดฮิตของ การประปาส่วนภูมิภาค ไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบกันครับ
ขอเป็นผู้ใช้น้ำ กปภ. ต้องทำอย่างไร
ผู้ต้องการใช้น้ำ ติดต่อขอแบบคำขอใช้น้ำประปา ได้ที่สำนักงานประปาทุกแห่ง หรือ Download จากเว็บไซต์ http://www.pwa.co.th/content/service/download/form แล้วยื่นแบบคำขอพร้อมด้วยหลักฐาน ที่สำนักงานประปาในพื้นที่ที่ขอใช้น้ำประปา
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ และเพื่อความสะดวกรวดเร็วควรถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ไปด้วย
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งประปา ซึ่งมีชื่อผู้ขอใช้น้ำประปาเป็นเจ้าของบ้าน หรือเอกสารการขอเลขประจำบ้าน หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน/อาคาร หรือ หนังสือสัญญาเช่าบ้าน/อาคาร (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ในกรณี ที่ผู้ขอใช้น้ำไม่มีชื่ออยู่ในบ้านที่จะติดตั้งประปา จะต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ขอใช้น้ำมาด้วย
ผู้ขอใช้น้ำประเภทหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การอื่น ๆ ที่ได้จดทะเบียนมีใบอนุญาตแล้ว ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ องค์การ หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นผู้ลงนามในแบบคำขอใช้น้ำประปา และสัญญาการใช้น้ำประปากับ กปภ.
ผู้ขอใช้น้ำประเภทบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ธนาคารพาณิชย์ โรงเรียนเอกชน และนิติบุคคลอื่นๆ ให้ผู้จัดการ หรือเจ้าของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นผู้ลงนามในแบบคำขอใช้น้ำประปา และสัญญาการใช้น้ำประปา กับ กปภ.
ผู้ขอใช้น้ำประปาอาจจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่น ไปทำการแทนได้ โดยต้องมีผู้ลงนามเป็นพยาน 2 คน และ ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจะต้องนำหลักฐานตามข้อ 1 และ 2 ของผู้มอบอำนาจไปแสดงด้วย
น้ำที่มีกลิ่นคลอลีนอันตรายหรือไม่
การประปาส่วนภูมิภาคใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้น้ำประปามีคุณภาพได้มาตรฐานน้ำดื่ม และมีความปลอดภัยต่อประชาชน น้ำประปาในบางพื้นที่อาจมีกลิ่นคลอรีนสูง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้แหล่งผลิตจ่ายน้ำ แต่ขอให้มั่นใจว่าปริมาณคลอรีนที่ ผสมอยู่ในน้ำประปานั้น อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด กลิ่นคลอรีนในน้ำประปา แสดงถึงความปลอดภัยว่าน้ำประปาที่ส่งมาถึงบ้านท่าน สะอาดปราศจากเชื้อโรคแน่นอน จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือทำให้เจ็บป่วย เมื่อดื่มน้ำประปาอีกด้วย
ท่านไม่คุ้นเคยกับกลิ่นคลอรีนที่เติมในน้ำประปา สามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว เพียงแต่นำน้ำประปาใส่ภาชนะที่สะอาด (ไม่ควรปิดฝามิดชิด) ตั้งทิ้งไว้ ประมาณ 1 คืน กลิ่นคลอรีนจะระเหยหมดไป ทั้งนี้ ภาชนะที่รองรับน้ำประปาต้องมี ความสะอาดด้วย จึงจะทำให้น้ำประปาที่เก็บไว้ มีความสะอาดเมื่อนำไปใช้
โครงการน้ำประปาดื่มได้เป็นอย่างไร
น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคที่ ผลิตจากโรงกรองน้ำทุกแห่ง มีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถดื่มได้ โดยปราศจากอันตราย ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น กปภ. จึงรวมกับกรมอนามัย ประกาศรับรองพื้นที่โครงการ น้ำประปาดื่มได้ขึ้นปีละประมาณ 10 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการบริ โภคน้ำประปามากยิ่งขึ้น
การประกาศรับรองว่าน้ำประปาดื่มได้ จากกรมอนามัยนี้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จากการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด และยังเป็นการลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติก ตลอดจนเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในส่วนภูมิภาคอีกด้วย ในการดำเนินโครงการ กรมอนามัยจะเป็นผู้ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาของ กปภ. อย่างละเอียด โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดจะเก็บตัวอย่างน้ำประปาบริเวณต้นทาง ที่โรงกรองน้ำ และปลายทางของระบบจ่ายน้ำ หรือ บริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาดสดโรงเรียน สถานที่ราชการ เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพ ทางกายภาพเคมี และ แบคทีเรีย แห่งละ 2 ครั้ง ใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 1-2 เดือน หากคุณภาพน้ำผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้ง 2 ครั้ง ก็จะประกาศรับรองให้ เป็นพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นพื้นที่ที่ได้ มีการปรับปรุงระบบท่อส่ง-จ่ายน้ำแล้ว
หลังจากประกาศรับรองพื้นที่น้ำประปาดื่มได้แล้ว จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ คุณภาพน้ำบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำประปาในบ้านของผู้ใช้น้ำที่ อยู่ในเขตพื้นที่ น้ำประปาดื่มได้ มีคุณภาพดีตลอดเวลา อย่างไรก็ตามผู้ใช้ น้ำควรหมั่นตรวจสอบระบบท่อ อุปกรณ์ บ่อพักน้ำในบ้านอย่างสม่ำเสมอด้วยว่าอยู่ในสภาพดีตลอดเวลาเช่นกัน
สาเหตุที่น้ำประปาไหลอ่อน
อาจเกิดจากสภาพพื้นที่จ่ายน้ำที่เป็นเนินสูง ต่ำ ไม่เท่ากัน และมีการใช้น้ำประปาพร้อมกันในช่วง เช้า – เย็น จึงทำให้แรงดันน้ำประปาลดต่ำลงและไหลอ่อน หากผู้ใช้น้ำประสบปัญหาน้ำประปาไหลอ่อนผิดปกติ โปรดแจ้งสำนักงานประปาในพื้นที่ ที่ท่านใช้ บริการทราบ
จะรักษาคุณภาพน้ำประปาในบ้านให้ดื่มได้ควรทำอย่างไร
- หมั่นตรวจสอบท่อประปาและก๊อกน้ำภายในบ้าน หากผุกร่อนเป็นสนิมควรเปลี่ยนใหม่
- ไม่ควรติดเครื่องปั้มน้ำสูบน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ เพราะหากมีท่อแตก-รั่ว เครื่องสูบน้ำจะดูดเอาสิ่งสกปรก เข้าไปในเส้นท่อด้วย
- เมื่อใช้เครื่องกรองน้ำ ควรทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำ ตามที่ระบุไว้ เพราะเครื่องกรองน้ำอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ หากไม่ล้างทำความสะอาดตามข้อแนะนำของผู้ผลิต
- ควรทำความ สะอาดถังเก็บน้ำหรือบ่อพักน้ำสม่ำเสมอ เพราะอาจมีสิ่งสกปรกเขาไปปะปนอยู่ในถังเก็บน้ำก็ได้
น้ำประปาไม่ไหลควรทำอย่างไร
- ตรวจดูประตูน้ำทั้งด้านหน้าและด้านหลังมาตร วัดน้ำว่าเปิดอยู่หรือไม่
- สอบถามเพื่อนบ้านข้างเคียงว่าน้ำประปาไหล หรือไม่
- สอบถามไปยังสำนักงานประปาในพื้นที่ที่ท่านใช้บริการ
- ทุกบ้านควรมี ถังเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 500-1,000 ลิตร
ทำไมค่าน้ำสูงผิดปกติ
ค่าน้ำสูงผิดปกติอาจเกิดจากการรั่วไหลภายในบ้าน ได้แก่ ท่อแตก-รั่ว อุปกรณ์สุขภัณฑ์รั่วไหลทำให้มาตรวัดน้ำ เดินตลอดเวลา จึงควรหมั่นตรวจสอบโดยการปิดก๊อกน้ำทุกตัว แล้วสังเกตดูการทำงานของมาตรวัดน้ำ หากมาตรยังเดินอยู่ แสดงว่ามีท่อรั่วภายใน ก็ให้รีบติดต่อช่างมาทำการซ่อมแซมแก้ไขโดยเร็ว
กรณีผู้ใช้น้ำไม่ได้พักอาศัยอยู่เป็นประจำ ควรทำการปิดประตูน้ำหลังมาตรวัดน้ำไว้เสมอ หากมีท่อรั่วภายในบ้าน ก็จะไม่ต้องสูญเสียน้ำที่จะทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้น
การชำระค่าน้ำประปา
ช่องทางการชำระค่าน้ำประปาซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายของลูกค้า
- สำนักงานประปาในพื้นที่ใช้บริการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. (ป.บางสาขาเปิดให้บริการในวันหยุดด้วย ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ที่ ป.ในพื้นที่)
- หักบัญชีเงินฝากธนาคาร 14 แห่งทั่งประเทศ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.ทหารไทย ธ.นครหลวงไทย ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.ธนชาต ธ.ยูโอบี ธ.อิสลาม ธ.ทิสโก้ ธ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
Download แบบฟอร์มได้ที่นี่ - ผ่านตัวแทนชำระค่าน้ำประปาตามจุดบริหารต่างๆ ได้แก่ 7-Eleven TESCO LOTUS “PAY AT POST” “JUST PAY” “JAY MART PAY POINT” True Money/True Express “PAY STATION” 108 shop
- ชำระผ่านตู้ ATM ธ.ไทยพาณิชย์ทั่วประเทศ
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารทหารไทย
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
หมายเหตุ ในข้อ 2 – 8 ผู้ใช้น้ำเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 10 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ต่อ 1 ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปา Website : https://new.pwa.co.th/contents/eservice
ขอรับเงินค่าประกัน การใช้น้ำประปาคืน
หลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงเพื่อขอรับเงินค่าประกัน การใช้น้ำประปาคืน มีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัว ข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของผู้ใช้น้ำ
- ใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำประปา (ถ้ามี)
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาครั้งสุดท้าย หรือสำเนา (ถ้ามี)
ผู้ใช้น้ำประปาอาจจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่น ไปทำการแทนได้ โดยต้องมีผูลงนามเป็นพยาน 2 คน และปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจจะต้องนำหลักฐาน ตามข้อ 1-3 และหลักฐานของผู้รับมอบอำนาจไปแสดงด้วย เมื่อท่านนำหลักฐานดังกล่าวไปแสดงต่อสำนักงาน ประปาในพื้นที่ ของท่านและเขียนคำร้องขอเลิกใช้น้ำประปา สำนักงานประปา จะตรวจสอบดูว่าท่านมียอดค้างชำระค่า น้ำประปาอยู่หรือไม่ หากไม่มีค่าน้ำประปาค้างชำระก็จะได้รับเงินประกันการใช้น้ำคืนเต็มตามจำนวน แต่หากมี ค่าน้ำค้างชำระ สำนักงานประปาจะหักจากเงินประกันการใช้น้ำและคืนเงินในส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้แก่ผู้ใช้น้ำ
ข้อควรระวังเมื่อใช้น้ำประปา
- การละเมิดการใช้น้ำประปา เช่น การต่อท่อประปาตรงโดยไม่ผ่านมาตรวัดน้ำ/การลักใช้น้ำ ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ทำให้มาตรวัดน้ำ วัดค่าผิดไปจากการใช้น้ำประปาจริงๆ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เท่ากับเป็นการลักทรัพย์และ ทำให้เสียทรัพย์ของ กปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ละเมิดจะถูกดำเนินคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และทางอาญา
- กรณีมาตรวัดน้ำชำรุดหรือต้องการย้ายมาตรวัดน้ำ ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้สำนักงานประปาทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อสำนักงานประปา จะได้เข้าไปทำการซ่อมแซมแก้ไขต่อไป
- หากพบข้อชำรุด/บกพร่อง เช่น การแตกรั่วขอเส้นท่อภายนอกมาตรวัดน้ำ โปรดแจ้งให้สำนักงานประปาทราบ เพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขต่อไป
- ผู้ใช้น้ำไม่ควรติดตั้งปั๊มน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ ควรปล่อยให้น้ำประปาลงบ่อพักน้ำเสียก่อน แล้วจึงสูบน้ำขึ้น จากบ่อพักไปใช้ การติดตั้งปั๊มน้ำ โดยตรงจากเส้นท่อ อาจทำให้ท่อ และมาตรวัดน้ำชำรุดได้ง่าย รวมทั้งเป็นการทำให้ผู้ใช้น้ำรายอื่นเดือดร้อนด้วย การมีถังหรือบ่อพักน้ำสำรองในบ้าน ประมาณ 500 – 1,000 ลิตร จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า ท่านมีน้ำประปาใช้ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีท่อประปาแตกอยู่นอกบ้านก็ตาม
- ผู้ใช้น้ำจะต้องไม่กระทำการซ่อมแซม แก้ไข ดัดแปลง หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับมาตรวัดน้ำ ประตูน้ำ ( วาล์ว ) หรือท่ออุปกรณ์นอกมาตรวัดน้ำเป็นอันขาด
- กรณีที่ลวดหรือวัตถุใดๆที่ กปภ. ได้ทำการตีตราผนึกไว้ที่ตัวมาตร หรือประตูน้ำ เกิดชำรุดเสียหายหรือสูญหายไป รวมทั้งตัวมาตรวัดน้ำ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ใดก็ตาม ผู้ใช้น้ำ จะต้องแจ้งให้สำนักงานประปาทราบโดยเร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 3 วัน
- ผู้ใช้น้ำจะต้องชำระเงินค่าน้ำ ค่าบริการอื่นๆและค่าเสียหายทันทีที่พนักงาน กปภ. ได้นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบแจ้งหนี้ขอเก็บเงิน มิฉะนั้นผู้ใช้น้ำจะต้องนำเงินไปชำระที่สำนักงานประปา ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือเตือน หากพ้นกำหนด ผู้ใช้น้ำยังไม่ไปชำระ กปภ. จะงดจ่ายน้ำ ( ตัดมาตรวัดน้ำ )
- การชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมใดๆ ผู้ใช้น้ำจะต้องขอรับใบเสร็จรับเงินจากเจ้าหน้าที่ผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
- เมื่อมีกลุ่มบุคคลใดมาติดต่อรับจ้างดัดแปลงหรือแก้ไขมาตรวัดน้ำหรืออุปกรณ์ประกอบ โปรดแจ้งให้ สำนักงานประปาในพื้นที่ของผู้ใช้น้ำทราบทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยกันรักษาผลประโยชน์ และทรัพย์สินของทางราชการ สำหรับกลุ่มบุคคลที่อ้างตนเป็นพนักงาน กปภ. มาติดต่อกับผู้ใช้น้ำครั้งใดก็ตาม ขอให้ผู้ใช้น้ำตรวจสอบหนังสือแนะนำตัว ของพนักงานในการเข้ามาตรวจสอบมาตรวัดน้ำ เช่น บัตรประจำตัวพนักงาน กปภ. โดยการจดเลขที่บัตร ชื่อ สกุลไว้ ก่อนที่จะให้พนักงานเข้าทำการตรวจสอบมาตรวัดน้ำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างเป็นพนักงาน กปภ.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
คำถามยอดฮิต
https://new.pwa.co.th/contents/faq