Posted on Leave a comment

10 หัวข้อเรื่องไฟฟ้าในบ้านที่คุณต้องรู้

มิเตอร์ไฟฟ้า

ในสายยังมีไฟ แต่ในใจมีแต่เธอ!!!  ในชีวิตประจำวันของคนเราส่วนใหญ่ต้องใช้ ไฟฟ้า เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ก็มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะให้ความสนใจเรื่อง ไฟฟ้า ที่ใช้กันอยู่ภายในบ้าน เพราะเมื่อพูดถึงไฟฟ้าแล้ว เรามักรู้สึกว่าเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนและอันตราย ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความชำนาญเท่านั้นจึงจะหยิบจับหรือทำได้

แต่หากเรามีความเข้าใจเพียงพอ มีความระมัดระวัง และรู้จักการทำงานที่ปลอดภัยแล้ว เราก็สามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสวิตช์ ปลั๊ก หลอดไฟ หรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยประหยัดเงินและเวลาในการหาช่างมาซ่อมแซมอีกด้วย

10 หัวข้อเรื่องไฟฟ้าในบ้านที่คุณควรรู้

1. มิเตอร์ไฟบ้านมีขนาด 5 แอมแปร์ เปิดเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง พร้อมกันได้หรือไม่?

ไม่ได้ เนื่องจากมิเตอร์ไฟมีขนาดเล็กเกินไป (ไฟฟ้าอาจจะดับทั้งบ้านหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้) ปกติมิเตอร์ไฟบ้านทั่วไปที่การไฟฟ้า มาติดตั้งให้นั้นจะกำหนดขนาดการใช้กระแสไฟไว้ประมาณ 5(15) แอมแปร์ (5 A ใช้ไม่เกิน 15 A) และจะเผื่อการใช้งานไว้อีกประมาณ 3 เท่า (คือ 15 A) แต่เครื่องปรับอากาศที่เจ้าของบ้านซื้อหามาเพิ่มเติมภายหลังจะใช้กระแสไฟฟ้ามากกว่ามิเตอร์จะสามารถทนกระแสได้ ซึ่งจากข้อมูลเครื่องปรับอากาศ กินไฟ ดังนี้

12,000 BTU – 4.0-5.0 A 
18,000 BTU – 7.0-7.5 A 
24,000 BTU – 9.5-10.5 A 
เป็นค่าโดยประมาณครับ ถ้าแอร์เก่า บางที 12,000 BTU กินไฟไปถึง 6-7A ก็มี ( ควรตรวจสอบให้แน่ชัด ที่เนมเพรตที่ติดมากับตัวเครื่องปรับอากาศแต่ล่ะยี่ห้อ)

ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องพร้อมๆกัน ให้ติดต่อกับการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของท่าน เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟเป็นขนาด 15 (45) แอมแปร์ 1 เฟส 2 สาย จะปลอดภัยกว่า แต่เจ้าของบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง

2. สายไฟมีวันหมดอายุไหม


ฉนวนหรือเปลือกชั้นนอกที่ใช้หุ้มสายไฟส่วนใหญ่ทำจากพีวีซี (PVC) ซึ่งมีความแข็งแรงและมีอายุการใช้งานยาวนาน ปกติถ้าเราไม่ใช้กระแสไฟมากเกินกว่าขนาดของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ หรือถูกหนูกัดแทะสายไฟ สายไฟที่ได้มาตรฐานจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า15-20 ปี แต่ถ้าปล่อยให้ถูกกระแทก ตากแดดตากฝนและถูกรังสียูวีเล่นงานเป็นประจำ สายไฟจะมีอายุการใช้งานไม่เกินน้อยกว่าที่กำหนด(5-10ปี) ดังนั้นการเดินสายไฟแบบร้อยท่อ (โลหะและอโลหะ) ก็พอช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟได้ในระดับหนึ่ง 

3. เมื่อเลิกใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ต้องปิดตรงไหนบ้างถึงปลอดภัย

ถ้าจะปิดให้กดปุ่ม OFF ที่ตัวเครื่องก็พอ แต่ถ้าจะให้ประหยัดและปลอดภัยจริงๆ ให้ปิดวาล์วน้ำ และตามด้วยสวิตช์เปิด-ปิดที่ตัวเครื่อง ซึ่งสวิตช์ตัวนี้ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันน้ำให้คงที่และจะตัดไฟเมื่ออุณหภูมิน้ำร้อนถึงจุดที่เราตั้งค่าไว้ แต่เพื่อความสบายใจของผู้ใช้ก็ควรปลดวงจรไฟฟ้าด้วยการสับเบรกเกอร์มาไว้ที่ตำแหน่ง OFF ทุกครั้ง เมื่อเลิกใช้งานแล้ว รวมถึงหมั่นตรวจเช็คสวิตช์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด (ELCB) อย่างน้อยเดือนละครั้ง

4. มีสายดินแล้วต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วอีกหรือไม่


สายดินถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีไว้ป้องกันไฟดูด เพื่อให้กระแสไฟที่รั่วไหลลงดินได้สะดวก โดยไม่ผ่านร่างกายเรา (ไฟไม่ดูด) ส่วนเครื่องตัดไฟรั่วมีหน้าที่ตัดกระแสไฟรั่วก่อนที่จะเป็นอันตรายกับมนุษย์ (ไฟดูด) และช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนั้นระบบไฟฟ้าที่ดี จึงควรมีทั้งระบบสายดินและเครื่องตัดไฟรั่ว ที่ตู้เมน(MDB,DB) เพื่อเสริมการทำงานซึ่งกันและกันให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

5. เมื่อเกิดเพลิงไหม้จากไฟฟ้า…ต้องทำอย่างไรและใช้อะไรดับ


หากพบประกายไฟที่จะก่อให้เกิดอัคคีภัย ให้เตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อม การดับเพลิงที่เกิดจากไฟฟ้า ต้องใช้ถังดับเพลิงที่ใช้ดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าโดยเฉพาะเท่านั้น อย่าใช้น้ำดับไฟเป็นอันขาด เพราะน้ำเป็นสื่อไฟฟ้า (ยกเว้นในกรณีที่ปลดวงจรไฟฟ้าแล้วสามารถใช้น้ำดับได้)

ถังดับเพลิงที่ใช้ดับเพลิงไหม้จากไฟฟ้าจะมีเครื่องหมายระบุว่าใช้ดับไฟได้ สังเกตที่ข้างถังจะระบุเป็นตัวอักษร C (ชนิด Aใช้ดับเพลิงพวกไม้และกระดาษ ชนิด B ใช้กับไฟที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ)

 

6. เต้ารับไม่มีไฟ ทำอย่างไรดี

เบื้องต้น ใช้  ไขควงวัดไฟ  เช็กดูว่าเต้ารับมีไฟหรือไม่ หรือใช้หลอดทดสอบเพื่อวัดวงจรไฟฟ้าว่า สายทั้งสองเส้นมีเส้นใดเส้นหนึ่งขาดหรือไม่ (ถ้าหลอดไฟในไขขวงติดก็แสดงว่าใช้ได้) หรือถอดเต้ารับออกมาเพื่อตรวจสอบดูอย่างละเอียดแล้วต่อสายไฟกลับเข้าที่ให้เรียบร้อย ที่สำคัญอย่าลืมกฎสำคัญในการทำงานไฟฟ้าคือ ต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือปลดเมนสวิตช์ทุกครั้ง ในบริเวณที่เราจะทำงานด้วยนะครับ

7. เราสามารถเสียบต่อปลั๊กพ่วง ได้มากน้อยเพียงใด

ปลั๊กพ่วงแต่ละรุ่น มีขีดความสามารถในการทนต่อกระแสไฟฟ้าไม่เท่ากัน โดยจะเขียนกำกับไว้ที่ตัวปลั๊กพ่วงเลย เช่น ปลั๊กพ่วงขนาด 3 ช่อง ทนกระแสไฟได้ 10 แอมแปร์ อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาต่อพ่วงต้องไม่มากกว่านี้ (ฟิวส์จะขาด) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสูงจนเกิดไฟไหม้ ที่สำคัญปลั๊กตัวผู้ที่เสียบกับเต้ารับต้องแน่นและกระชับ(ไม่หลวม) และอีกอย่างที่ไม่ควรทำคือ นำปลั๊กตัวอื่นมาพ่วงต่อจากปลั๊กพ่วงอีกที…อย่าทำนะครับ

8. ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างไรให้ประหยัดไฟ

การดูแลเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าไฟและส่งผลดีต่อสุขภาพของเราอีกด้วย การทำความสะอาดแอร์ครั้งใหญ่ควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งคอยล์เย็นและคอยล์ร้อนที่ตั้งอยู่ภายนอกห้อง โดยช่างผู้ชำนาญเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้นแต่ภายหลังการล้างเครื่อง บ่อยครั้งมักเกิดน้ำหยดหรือรั่วออกมาจากแผงคอยล์เย็น เพราะช่างอาจหลงลืมการทำความสะอาดท่อน้ำทิ้ง ทำให้เกิดน้ำรั่วหรือเกิดเสียงจากการสั่นของเครื่องได้ เนื่องมาจากการประกอบชิ้นส่วนไม่ดี ดังนั้นจึงควรตรวจเช็กในจุดต่างๆให้แน่ใจก่อนช่างจะจากไปนะครับ

9. Daylight, Warm white และCool white เลือกให้ถูก ใช้ให้เป็น


การเลือกซื้อหลอดไฟ นอกจากต้องดูที่ขั้วหลอดให้ชัวร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเช็คให้แน่ใจก่อนซื้อก็คือ เรื่อง โทนสีของแสงจากหลอดไฟนั่นเอง  เพราะแสงนั้นมีผลกับอารมณ์และประสิทธิภาพในการมองเห็น ปัจจุบันหลอดไฟแสงสว่างส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจำหน่ายมีหลายโทนสีด้วยกัน ได้แก่ Day Light, Warm White และ Cool White ซึ่งหลอดไฟแต่ละสีก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปดังนี้ Daylight ให้แสงสีขาวอมฟ้านิดๆ คล้ายแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน
Warm White จะให้แสงสีแดงอมส้ม หรือขาวอมเหลือง เป็นสีโทนร้อน เหมาะสำหรับการสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นและเป็นกันเองCool White แสงจะเริ่มออกมาทางสีขาว เป็นสีโทนเย็น ดูเย็นตา แต่จะทำให้สีจริงของวัตถุผิดเพี้ยนไป จึงนิยมใช้กันในร้านค้าต่างๆ อาทิ ร้านขายผักหรือผลไม้ เพื่อช่วยให้สีสันของสินค้าดูสดใสกว่าความเป็นจริง

ดังนั้นก่อนเลือกซื้อหลอดไฟมาใช้ จึงควรอ่านฉลากที่ข้างกล่องเพื่อให้ได้แสงไฟที่ตรงกับลักษณะการใช้งาน และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้ห้องต่างๆภายในบ้าน

10. ขั้นตอนตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านด้วยตนเอง ว่าไฟรั่วหรือไม่

เริ่มด้วยการทดสอบมิเตอร์ไฟก่อน โดยปิดสวิตช์ไฟฟ้าทุกจุด รวมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆออกให้หมด พร้อมทั้งโยกเบรคเกอร์ในตำแหน่ง OFF แล้วไปดูมิเตอร์ไฟที่หน้าบ้านว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ระหว่างมิเตอร์ถึงสายเมนเข้าบ้าน
หากตรวจสอบแล้วพบว่ามิเตอร์สายเมนถึงเบรคเกอร์ ปกติ (มิเตอร์ไม่หมุน) ให้ลองนำเบรคเกอร์ของสายแยกย่อยโยกในตำแหน่ง OFF ทั้งหมด แล้วค่อยๆ ขึ้นเบรคเกอร์ที่ละวงจร ดูเมนสวิตช์ ว่ามีมดหรือแมลงเข้าไปทำรังในตู้หรือเปล่า คัตเอ๊าต์หรือเบรกเกอร์ยังสามารถใช้ปลดวงจรไฟฟ้าได้หรือไม่

ส่วนสายไฟและเต้ารับ ให้ดูว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายบ้าง โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน อาจเปื่อยกรอบเนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน หรือถูกพวกหนูกัดแทะจนสายขาดได้ ถ้าพบความเสียหายก็ต้องเปลี่ยนใหม่เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

ขอขอบคุณข้อมูล :

https://www.wearecp.com/focus20220318/
https://www.baanlaesuan.com/74536/maintenance/10-qa-electricity

Posted on Leave a comment

การดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

การดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟ
การดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

การดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้การสังเกตอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในการใช้กระแสไฟฟ้า

อ่านต่อ...