จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายและวิเคราะห์ดังนี้
เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้า (เช่น อาหาร เสื้อผ้า ) และบริการ (เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล) เพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป
โดยทั่วไปเราจะวัดเงินเฟ้อโดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า สำหรับค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ”
ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% ตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว และราคาเพิ่มเป็น 103 บาทในปีนี้ แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%
อัตราเงินเฟ้อวัดได้อย่างไร ?
ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท. ใช้เป็นเป้าหมาย
เงินเฟ้อสูงในไทย เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าน่ากังวล?
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสูงถึง 5% ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายท่านอาจมีคำถามว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไหร่? ธนาคารกลางจะสามารถช่วยบรรเทาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ไหม? และสถานการณ์เงินเฟ้อตอนนี้ เรียกได้ว่าน่ากังวลแล้วหรือยัง?
ภาวะเงินเฟ้อสูงนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไหร่?
ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ในระดับสูงในปีนี้ ก่อนจะลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปีหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อไทยครั้งนี้ล้วนเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation)
ที่ส่งผลจำกัดอยู่ในหมวดอาหารและพลังงานเป็นส่วนใหญ่ หากเราพิจารณาข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามีราคาสินค้าและบริการเพียง 14% จากทั้งหมด 430 รายการที่มีการขึ้นราคาสูงกว่าปกติ
เงินเฟ้อประเภทนี้ มักคลี่คลายได้เองตามกลไกของตลาด เห็นได้จากราคาเนื้อหมูที่เริ่มลดลงตั้งแต่เดือน กพ. จากปัญหาโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ทุเลาลง และถึงแม้ว่าราคาอาหารสำเร็จรูปจะแพงขึ้นตามไปบ้างแล้ว แต่การส่งผ่านของต้นทุนนี้ไม่น่าจะทำได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ส่วนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นมากตามปัจจัยโลก ก็มีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายปีนี้ หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคลี่คลาย และอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นตามการระบายน้ำมันดิบจำนวนมากออกมาจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์
ธนาคารกลางจะสามารถช่วยบรรเทาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ไหม?
เมื่อเงินเฟ้อเกิดจากฝั่งอุปทานและเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว บทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับเงินเฟ้อประเภทนี้จึงมีอยู่จำกัด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุปทานได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วไปจนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง โดยเฉพาะไปซ้ำเติมกลุ่มคนมีรายได้น้อยที่อาจมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แต่เดิม และยังต้องแบกรับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น (กลุ่มคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและน้ำมันสูงกว่ากลุ่มคนรายได้สูงประมาณ 17%)
ถามว่าเมื่อไหร่ที่นโยบายการเงิน ควรมีบทบาทในการช่วยลดทอนเงินเฟ้อ? หากเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วและเงินเฟ้อสูงขึ้นตามความต้องการบริโภค (demand-pull inflation) การขึ้นดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของประเทศสหรัฐฯ ที่เผชิญ pent-up demand และตลาดแรงงานตึงตัวมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อในลักษณะนี้ เพราะไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤตเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และการใช้มาตรการเฉพาะจุดโดยภาครัฐเพื่อดูแลปัญหาค่าครองชีพ เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม จึงยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
สถานการณ์เงินเฟ้อตอนนี้ เรียกได้ว่าน่ากังวลแล้วหรือยัง?
เงินเฟ้อที่มาจาก cost-push และ demand-pull ไม่ได้นับว่าเป็นเงินเฟ้อที่น่ากังวล เพราะเกิดขึ้นได้เป็นปกติจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน แต่หากมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในลักษณะ Perfect storm เช่น เงินบาทอ่อนค่า ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแรง มาตรการภาครัฐไม่สามารถช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้แล้ว ต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบย่อมปรับสูงขึ้นมาก อีกทั้งหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัว ผู้ประกอบการก็จะสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ในกรณีนี้ ธปท. อาจต้องปรับน้ำหนักที่ให้ระหว่างเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเพิ่มน้ำหนักที่ให้กับการดูแลเสถียรภาพราคาในระยะยาว และพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่เหมาะสม
แต่หากสถานการณ์ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ เงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องจนทำให้ครัวเรือนกับภาคธุรกิจเริ่มปรับเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) สูงขึ้น จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกำหนดราคาสินค้าและค่าจ้างของผู้ประกอบการ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตน้ำมันแพงช่วงปี 1970 ที่นำไปสู่ปัญหา wage-price spiral ตามมา นั่นคือ แรงงานไปต่อรองให้ค่าจ้างของตนสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด ก็ย้อนกลับมากระทบค่าครองชีพอีกครั้ง
เงินเฟ้อในลักษณะนี้ถึงแม้มีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย เนื่องจากตลาดแรงงานต้องตึงตัวมาก ประกอบกับอำนาจการต่อรองของแรงงานไทยยังมีน้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลให้เงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่ฝังลึกเข้าไปในการคาดการณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของประชาชน ยากที่จะคลี่คลายเองได้ ดังนั้น ในกรณีนี้ นโยบายการเงินอาจต้องใช้ยาแรงเพื่อดึงให้เงินเฟ้อปรับลดลงมาอีกครั้ง
หากเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย ธปท. ต้องทำอย่างไร ?
ถ้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ธปท. ต้องอธิบายเหตุผลกับรัฐบาลและประชาชน ผ่านทางจดหมายเปิดผนึก
ในข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงเหตุผลของการออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ วิธีทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าเป้า
กนง. ต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน จนกว่าการติดตามอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 วิธีข้างต้นจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
กนง. เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกจาก กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สรุปว่า
ข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว (5-10 ปี) ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ติดตามถือว่า ยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล…..
ปัจจุบัน ค่าเงินเฟ้อ มีค่า :
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. 65
7.10%
กรอบเป้าหมาย 1–3%
แต่ แต่ …..ผลตอบแทนฝากเงินมันไม่ทันอัตราเงินเฟ้อครับ เราจึงไม่ควรเอาเงินไว้เฉยๆ หรือฝากเงินในที่ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้น ฝากเพื่อเป้าหมายบางอย่าง อย่างเงินสำรองฉุกเฉิน อันนี้ควรฝากธนาคารครับ เพราะมีสภาพคล่องสูง ถอนง่าย ทันใช้เวลาฉุกเฉิน
การวางแผนเกษียณ “ชีวิตหลังเกษียณ” อนาคตจะสุขหรือทุกข์ เป็นสิ่งที่ตัวเราวันนี้เป็นผู้กำหนด การวางแผนเกษียณ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญตั้งแต่เนิ่นๆ มาเตรียมพร้อมกันเถอะครับ
- ดร.พิม มโนพิโมกษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ดร.นุวัต หนูขวัญ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 10/2565 วันที่ 10 พ.ค. 2565
2. ธนาคารแห่งประเทศไทย
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewInflation.aspx